วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2

              จากผลของการปฏิรูปการศึกษารอบแรก มีทั้งที่สามารถเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จสำเร็จ หรือล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบความสามารถของเด็กไทย ให้ผลสอดคล้องกันว่า ความสามารถของเด็กไทยในด้านภาษา คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นและด้อยกว่าเด็กประเทศอื่น นอกจากนักเรียนแล้ว ยังมีครู และผู้ปกครอง/ชุมชน/สังคม ครูบางส่วนประสบความสำเร็จในการได้รับเลื่อนวิทยฐานะ หรือตำแหน่งบริหาร แต่ครูส่วนใหญ่ยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจและภาระงานสอน รวมทั้งงานธุรการที่หนักจนไม่สามารถจะสอนให้ดีได้ อีกทั้งวิชาชีพครูก็ยังไม่สามารถจะดึงคนเก่งมาเรียนและเป็นครูได้ สังคมเองก็เรียกร้องอยากได้เด็กที่ทั้งเก่งและดี เด็กที่มีจิตสาธารณะ ภาคธุรกิจก็ต้องการนักเรียนอาชีวะที่มีทักษะซึ่งระบบการศึกษาปัจจุบันไม่สามารถผลิตให้ได้เพียงพอและตรงตามความต้องการ

           จากที่กล่าวมา ต้องยอมรับว่า การปฏิรูปการศึกษารอบแรกของเราไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้ ถ้าเป็นเช่นนั้น จะมีวิธีการและหลักประกันอย่างไรที่จะทำให้เรามั่นใจว่าการปฏิรูปรอบสองสำเร็จ จากคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 มุ่งเน้นให้มีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษ ที่สอบ (พ.ศ.2552-2561) รัฐบาลจะมุ่งเน้นให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1. พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและเรียนรู้ของคนไทย 2.เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ 3. ส่งเสริมการมีส่วน ร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารและจัดการศึกษา
          ในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา เป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ประสบผลสำเร็จ เพราะเป็นผู้ปฏิบัติจริง ผู้บริหารต้องมีความรอบรู้และเข้าใจในเป้าหมายหลักของการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง จึงจะสามารถนำพาการบริหารการศึกษาที่รับผิดชอบให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้
          หลักทฤษฎีการบริหารที่เกี่ยวข้องมีรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติแตกต่างกัน ต้องเลือกที่เหมาะสมกับบริบทขององค์กรนั้น ๆ ซึ่งผู้บริหารต้องทราบและเข้าใจในบริบทของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดดยได้มาจากกระบวนการวิเคราะห์ระบบ ด้วยวิธีการ SWOT analysis ซึ่งเป็นการวิเคราะห์สภาพองค์การ หรือหน่วยงานในปัจจุบัน เพื่อค้นหาจุดแข็ง จุดเด่น จุดด้อย หรือสิ่งที่อาจเป็นปัญหาสำคัญในการดำเนินงานสู่สภาพที่ต้องการในอนาคต SWOT เป็นตัวย่อที่มีความหมายดังนี้
        Strengths คือ จุดแข็ง หมายถึง ความสามารถและสถานการณ์ภายในองค์กรที่เป็นบวก ซึ่งองค์กรนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ หรือหมายถึง การดำเนินงานภายในที่องค์กรทำได้ดี
        Weaknesses คือ จุดอ่อน หมายถึง สถานการณ์ภายในองค์กรที่เป็นลบและด้อยความสามารถ ซึ่งองค์กรไม่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในการทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ หรือหมายถึง การดำเนินงานภายในที่องค์กรทำได้ไม่ดี
       Opportunities คือ โอกาส หมายถึง ปัจจัยและสถานการณ์ภายนอกที่เอื้ออำนวยให้การทำงานขององค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ หรือ สภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการขององค์กร
       Threats คือ อุปสรรค หมายถึง ปัจจัยและสถานการณ์ภายนอกที่ขัดขวางการทำงานขององค์กรไม่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ หรือหมายถึงสภาพแวดล้อมภายนอกที่เป็นปัญหาต่อองค์กร
       เมื่อทราบสภาพปัจจุบันของหน่วยงานแล้วก็กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ในขั้นตอนการดำเนินการพัฒนา ต้องยึดหลักการพัฒนาตามวงจรเดมมิง ซึ่งริเริ่มโดย เอดวาร์ด เดมมิ่ง (W.Edwards Deming) คือ PDCA ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลักดังนี้
      1. การวางแผน (Plan: P) การวางแผนเป็นจุดเริ่มต้นของงานและเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล การวางแผนโดยวิธีการระดมความคิด กำหนดวิธีดาเนินการ การตรวจสอบ และประเมินผล ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญต่อการกำหนดปัญหาที่ต้องการแก้ไขหรือปรับปรุงให้ดีขึ้น เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา แล้วร่วมกันระดมความคิด (Brainstorm) ในการแก้ปัญหาที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด
      2. การปฏิบัติตามแผน (Do: D) เป็นการลงมือปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มต้องมีความเข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นในแผนนั้นๆ ความสำเร็จของการนำแผนมาปฏิบัติต้องอาศัยการทำงานด้วยความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสมาชิก ตลอดจนการจัดการทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงานตามแผนนั้นๆ ในขั้นตอนนี้ ขณะที่ลงมือปฏิบัติจะมีการตรวจสอบไปด้วย
       3. การตรวจสอบ (Check: C) การตรวจสอบดูว่าเมื่อปฏิบัติงานตามแผน หรือการแก้ปัญหางานตามแผนแล้ว ผลลัพธ์เป็นอย่างไร สภาพปัญหาได้รับการแก้ไขตรงตามเป้าหมายที่กลุ่มตั้งใจหรือไม่ การไม่ประสบผลสำเร็จอาจจะเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น ไม่ปฏิบัติตามแผน ความไม่เหมาะสมของแผน การเลือกใช้เทคนิคที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น
       4. การดำเนินการให้เหมาะสม (Action : A) เป็นการกระทำภายหลังที่กระบวนการ 3 ขั้นตอน ตามวงจรได้ดำเนินการเสร็จแล้ว ขั้นตอนนี้เป็นการนาเอาผลจากขั้นการตรวจสอบ (C) มาดำเนินการให้เหมาะสมต่อไป
       กระบวนการปฏิบัติตามวงจรเดมมิง (Deming Cycle) หรือวงจรคุณภาพนี้   จะต้องปฏิบัติย่างต่อเนื่อง มีการนำผลการประเมินมาวางแผนปฏิบัติเพื่อพัฒนางานอย่างสม่ำเสมอ เมื่อผู้บริหารเป็นผู้บริหารมืออาชีพ ที่มีการวิเคราะห์ระบบเพื่อทราบจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของหน่วยงานมาประกอบการบริหารจัดการศึกษาอย่างชาญฉลาดแล้ว มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 จะสามารถประสบผลสำเร็จตามที่มุ่งหวังอย่างมีคุณภาพอย่างแน่นอน
                                                ..............สมชาติ  ปรึกไธสง  เรียบเรียง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น