วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

การวิจัย (Research)

การวิจัยคืออะไร
         “การวิจัย” หรือ Research เป็นกระบวนการค้นหาและพัฒนาความรู้ของมนุษย์ให้ก้าวหน้าอย่างเป็นระบบ” จะเห็นว่าคำจำกัดความนี้ก็อาจคล้ายกับนักวิชาการคนอื่นๆ กล่าวไว้นั่นคือ ต้องการอยากรู้แต่สิ่งที่ได้รู้มันเป็นสิ่งถูกต้องหรือไม่ อย่างไร เมื่อได้ผ่านการบวนการทำการวิจัยด้วยตนเองแล้ว เราจะค่อยๆ พัฒนาความเข้าใจว่าการวิจัยที่จริงแล้วหมายถึงอะไร โดยการอ่านและโต้เถียงความถูกต้องเที่ยงตรงของคำจำกัดความจากหนังสือตำราต่างๆ แม้แต่โดยเพียงแค่อ่านบทความการวิจัย ในไม่ช้าเราจะพัฒนาความเข้าในเกี่ยวกับการวิจัยได้ และสามารถที่จะสร้างคำจำกัดความที่ชัดเจนไม่คลุมเครือด้วยตนเองได้ ความเข้าใจเช่นนี้และความสนใจในการวิจัยเป็นส่วนตัวนั่นแหละมีความสำคัญแก่นักวิจัยมากกว่า
      ขั้นตอนการวิจัย
โดยทั่วไปการวิจัยจะมีขั้นตอนดังนี้
      1. ขั้นก่อนรวบรวมข้อมูล ในข้อตอนนี้นักวิจัยตัดสินใจเกี่ยวกับคำถามการวิจัย เป้าหมายของการวิจัย วัตถุประสงค์ของการวิจัย และกรอบแนวคิดเชิงทฤษฏีซึ่งเป็นรากฐานของการวิจัย
      2. ขั้นออกแบบวิธีเก็บข้อมูล เพื่อจะตอบคำถามหรือขั้นการออกแบบการวิจัย
      3. ขั้นเก็บรวบรวมข้อมูลจริง ในขั้นนี้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยวิธีการวิจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง
      4. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล โดยการอ้างอิงกรอบแนวคิดเชิงทฤษฏีที่ใช้เพื่อตอบคำถาม
      5. ขั้นสรุปผลและรายงานผลการวิจัย เพื่อจะเผยแพร่ข้อค้นพบไปยังผู้อื่น
      ทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นกระบวนการวิจัย กระบวนการวิจัยหมายถึง ส่วนต่างๆ ทั้งหมดที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ให้มีระบบการตรวจสอบความถูกต้องผิดพลาดได้ในแต่ละขั้นตอน
       ธรรมชาติของความรู้                   "
     มีแนวทางศึกษาธรรมชาติของความรู้แบบกว้างๆ 2 ประการ คือ
      1. ปฏิฐานนิยม (Positivism)
      2. นัยนิยม (Interpretivism)
          แต่ละแนวทางมีสมมติฐานด้านญาณวิทยาและด้านภววิทยาที่แตกต่างกันและแต่ละแนวทางมีนัยที่ต่างกัน สำหรับวิธีวิทยาการวิจัยที่นักวิจัยนำมาใช้ ข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมและการแปลความหมายข้อมูลเหล่านั้น
         การวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ                             .
         ความแตกต่างระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยรวมๆแล้วหมายถึง คุณลักษณะของข้อมูลที่นักวิจัยรวบรวมมาใช้ในการศึกษาวิจัย มีข้อสังเกตว่า เราสามารถตั้งสมมติฐานต่างๆ กัน ในเรื่องธรรมชาติของความรู้ สมมติฐานที่แตกต่างกันนี้ได้ถูกแปลงไปเป็นการใช้ประเภทข้อมูลที่ต่างกัน นักวิจัยกลุ่มปฏิฐานนิยมตั้งสมมติฐานว่าเราสามารถสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ได้ ทั้งยังสามารถวัดและวิเคราะห์เป็นตัวเลขและในเชิงวัตถุวิสัยได้การใช้การวัดและวิเคราะห์เป็นตัวเลข เรียกกันว่าเป็นแนวทางศึกษาเชิงปริมาณ ซึ่งได้แก่การวิจัยที่เกี่ยวกับปริมาณที่สามารถวัดได้ ฉะนั้น เราอาจจะสนใจในความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนทางเศรษฐกิจในการกีฬา กับความสำเร็จในเวลาต่อมา เราอาจจะศึกษาเรื่องนี้โดยการวัดว่า เราได้ใช้จ่ายเงินลงทุนไปมากน้อยเท่าใดในกีฬาชนิดหนึ่ง (เช่น กีฬาฟุตบอล) และวัดผลการแข่งขันในกีฬาประเภทนั้นได้แง่ของการนับเหรียญรางวัลในการแข่งขันครั้งสำคัญๆ เช่น กีฬาโอลิมปิก เป็นต้น วิธีนี้จะทำให้เราได้ข้อมูลเป็นตัวเลขมาจำนวนหนึ่ง ซึ่งจากนั้นจะนำมาวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อที่จะกำหนดว่า ระหว่างตัวแปรทั้งสองนั้น มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ วิธีนี้ คือการวิจัยเชิงปริมาณ ตัวแปรนั้นสามารถวัดได้โดยตรงและแปลงไปใช้ในรูปของตัวเลขได้ง่าย ซึ่งจากนั้นก็ทำการวิเคราะห์ด้วยสถิติ (ฉะนั้น จึงเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับกระบวนทัศน์แบบปฏิฐานนิยม)
         ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ มีเป้าหมายที่จะศึกษาในเชิงคุณภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะวัดได้ คือ ไม่สามารถลดทอนลงเป็นตัวเลขได้ เช่น ความรู้สึก ความคิด ประสบการณ์ เป็นต้น ซึ่งได้แก่ มโนทัศน์ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับแนวทางศึกษาความรู้แบบนัยนิยม การวิจัยเชิงคุณภาพใช้ข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ไม่ใช่ตัวเลข เพื่อที่จะบรรยายและเข้าใจมโนทัศน์เหล่านั้น เพราะฉะนั้น นักวิจัยอาจจะใช้แนวทางศึกษาทางเลือก เพื่อให้เข้าใจเจตนาของผู้ที่เข้าไปชมการแข่งขันต่างๆ โดยถามพวกเขาให้บอกเหตุผลว่าเพราะเหตุใดพวกเขาจะไม่เข้าชมการแข่งขันในอนาคต ความคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยากจะแปลงเป็นตัวเลขได้อย่างมีความหมาย และด้วยเหตุนั้นข้อมูลในรูปของถ้อยคำที่นักวิจัยนำมาใช้แปลเป็นตัวเลขได้อย่างมีความหมาย และด้วยเหตุนั้นข้อมูลในรูปของถ้อยคำที่นักวิจัยนำมาใช้แผลความหมายมีความเหมาะสมในการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งไม่เหมือนกับเชิงปริมาณ ประเด็นเรื่อง “จำนวนเท่าไหร่” อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่เกี่ยวข้อง
        ข้อมูลเชิงปริมาณหรือคุณภาพ                                       .
           การตัดสินใจที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative data) หรือเชิงคุณภาพ(Quantitative data) ขึ้นอยู่กับธรรมชาติหรือลักษณะของคำถามการวิจัยและวัตถุประสงค์ของการวิจัยของแต่ละคน เห็นได้ชัดว่าถ้าเราสนใจในการวัดปรากฏการณ์บางอย่าง ถ้าอย่างนั้นเราจำเป็นต้องเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ถ้าเราสนใจในความคิดหรือความรู้สึกของคนมากกว่า ถ้าอย่างนั้นสิ่งเหล่านี้ก็ยากที่จะทำให้เป็นเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพจะมีความเหมาะสมมากกว่า ไม่มีแนวทางศึกษาใดดีกว่าวิธีอื่น แต่ว่าแนวทางการศึกษาควรถูกกำหนดโดยคำถามการวิจัยมากกว่า ตัวอย่างเช่น อย่าตัดสินใจที่จะเก็บข้อมูล เชิงคุณภาพเพียงเพราะว่าเราไม่สบายใจกับการวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ จงแน่ในเสมอว่าแนวทางการศึกษาของเรามีความเหมาะสมกับคำถามวิจัย มากกว่าทักษะหรือความพอใจส่วนตัว
           ารผสมผสานข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ                           .
            เราอาจตัดสินใจที่จะใช้ข้อมูลผสมกันระหว่างข้อมูลเชิงปริมาณกับข้อมูลเชิงคุณภาพ แต่ในเรื่องนี้มีความเห็นแตกต่างกัน นักวิชาการบางคนกล่าวว่าทั้งสองแบบเข้ากันไม่ได้เนื่องจากมันใช้สมมติฐานทางญาณวิทยาที่แตกต่างกัน นักวิชาการท่านอื่นกล่าวว่าเนื่องจากปัญหาข้อจำกัดด้านเวลาความจำเป็นที่จะจำกัดขอบเขตของการศึกษาและความยุ่งยากของการตีพิมพ์ผลการศึกษาเหล่านั้นนับเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการวิจัยที่ใช้ข้อมูลผสมผสานกันทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ การผสานกันระหว่างวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณอาจทำให้ได้ผลผลิตสุดท้ายที่สามารถแสดงให้เห็นคุณประโยชน์อย่างสำคัญของวิธีการวิจัยทั้งสองแบบอย่างเด่นชัด
            อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญก็คือว่า แนวทางศึกษาของเราจะต้องเหมาะสมกับคำถามการวิจัยมากกว่าความพอใจส่วนตัวของเราเอง เราสามารถใช้วิธีผสมระหว่างการวิจัยเชิงประมาณกับเชิงคุณภาพได้ในลักษณะต่อไปนี้
         1. วิธีการหนึ่งช่วยสนับสนุนอีกวิธีการหนึ่ง ฉะนั้น งานวิจัยเชิงปริมาณส่วนหนึ่งอาจชี้ให้เห็นว่ามีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งจากนั้นจะสามารถอธิบายได้โดยการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ
          2. วิธีทั้งสองศึกษาปัญหาเดียวกัน เราอาจใช้วิธีการเชิงปริมาณเก็บรวบรวมข้อมูลค่อนข้างไม่ซับซ้อน (Simple) หรือข้อมูลตัวเลขจากกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ ในขณะที่วิธีการเชิงคุณภาพอาจจะเก็บรวบรวมข้อมูลที่ละเอียดลึกจากกลุ่มตัวอย่างขนาดที่เล็กกว่า
          สิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องพิจารณาตั้งแต่เริ่มแรกก็คือว่า เรามีเวลาและทรัพยากรที่จะดำเนินการวิจัยแบบพหุวิธี (MultiMethods) คือ การใช้วิธีวิจัยต่างๆ เพื่อศึกษาคำถามการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์อย่างเดียวกัน) หรือแบบวิธีผสม (Mixed Methods) คือ ซึ่งใช้สองวิธีวิจัยศึกษา คำถามการวิจัยอย่างเดียวกัน) บ่อยครั้งที่วิธีการศึกษาเช่นนั้นต้องใช้เวลาและเงินมากกว่า และเรื่องนี้เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรามีข้อจำกัดเกี่ยวกับเวลาและทรัพยากร


   ที่มา : ณรงค์ศักดิ์ บุณยมาลิก สรุปจากหนังสือการวิจัยเชิงคุณภาพเบื้องต้น ของ ดร. สรญ ภู่คง และ ผศ.ดร. อ้อมเดือน สดมณี อาจารย์ สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น