วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554

การออกแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ

            ในการวิจัยเชิงคุณภาพ การออกแบบเป็นกระบวนการย้อนกลับไปมา (Interactive Process) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ของการออกแบบ โดยประเมินความนัยของจุดประสงค์ ทฤษฎี คำถามการวิจัย วิธีการ ปัญหาความเที่ยงตรงที่มีต่อกันและกัน โมเดลปฏิกิริยาสัมพันธ์นี้เข้ากันได้กับคำจำกัดความของการออกแบบที่ว่า การออกแบบเป็นการจัดแจงองค์ประกอบต่างๆ ที่ควบคุมการทำหน้าที่ของการศึกษาวิจัย มากกว่าที่จะเป็นแผนการที่กำหนดไว้ก่อนแล้วสำหรับที่จะทำการศึกษา หรือว่าเป็นเพียงลำดับขั้นตอนในการดำเนินการศึกษาวิจัยนั้น เพราะฉะนั้นโมเดลนี้จึงมีแนวคิดพื้นฐานอยู่ที่การให้มโนทัศน์การออกแบบการวิจัยว่า ได้แก่ โครงสร้างสำคัญและความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันขององค์ประกอบต่างๆ ของการศึกษาวิจัยและความนัยของแต่ละองค์ประกอบที่มีต่อองค์ประกอบอื่นๆ
          การออกแบบมี 5 องค์ประกอบ องค์ประกอบเหล่านี้มีลักษณะเป็นไปตามประเด็นที่แต่ละส่วนต้องการพิจารณา คือ
        1. วัตถุประสงค์ (Purposes) มีประเด็นที่ควรพิจารณาดังนี้
- เป้าหมายสำคัญที่สุดของการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คืออะไร
- การศึกษาครั้งนี้ต้องการที่จะอธิบายให้ ในประเด็นใดบ้าง และมันจะมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติอะไรบ้าง
- เพราะเหตุใดจึงต้องการที่จะทำการศึกษาวิจัยนี้ และเพราะเหตุใดจึงมีความสนใจที่จะทราบผลของการศึกษาที่ออกมา
- เพราะอะไร การศึกษาวิจัยนี้จึงคุ้มค่าที่จะทำ
         2. กรอบแนวคิดของเนื้อหา (Conceptual context) มีประเด็นที่ควรพิจารณาดังนี
- เกิดอะไรขึ้นกับปรากฏการณ์ที่กำลังวางแผนจะศึกษา
- มีทฤษฎีอะไร ข้อค้นพบใดบ้างและกรอบแนวคิดใดที่เกี่ยวข้องกับปรากฎการณ์เหล่านั้นที่จะชี้นำหรือให้ข้อมูลความรู้แก่การวิจัยนั้นได้
- วรรณกรรมใดบ้าง การวิจัยเบื้องต้นและประสบการณ์ส่วนตัวใดบ้าง ที่จะนำมาให้ใช้
- องค์ประกอบนี้มีทฤษฎีที่มีอยู่แล้ว หรือ นักวิจันกำลังสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับบริบทหรือประเด็นที่กำลังศึกษา
- สำหรับทฤษฎีมีแหล่งสำคัญหลักอยู่ 4 ประการ คือ
       (1) ประสบการณ์ของนักวิจัยเอง
       (2) ทฤษฎีและการวิจัยที่มีอยู่เดิม
       (3) ผลของการีศึกษานำร่อง หรือการวิจัยเบื้องต้นที่นักวิจัยได้ทำไว้แล้ว
       (4) การทดลองความคิด (Thought Experiments)
        3. คำถามการวิจัย (Research questions) มีประเด็นที่ควรพิจารณาดังนี้
- ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยต้องการที่จะเข้าใจสิ่งใดเป็นการเฉพาะ
- นักวิจันยังไม่รู้อะไรบ้างในส่วนที่เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่กำลังศึกษาซึ่งต้องการจะเรียนรู้
         4. วิธีการศึกษา (Methods) มีประเด็นที่ควรพิจารณาดังนี้
- องค์ประกอบของการออกแบบข้อนี้ ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ คือ
            (1) ความสัมพันธ์ของการวิจัยกับประชาชนที่ศึกษา
            (2) การเลือกสถานที่ศึกษาและการเลือกตัวอย่าง
            (3) วิธีการเก็บข้อมูล และ
            (4) เทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลที่จะใช้
      5. ความเที่ยงตรง (Validity) มีประเด็นที่ควรพิจารณาดังนี้
 ผู้วิจัยจะทำผิดพลาดได้อย่างไร
         - อะไรคือคำอธิบายการเลือกที่น่าจะเป็นความจริง และอะไรคือปัจจัยคุกคามต่อความเที่ยงตรงที่มีต่อข้อสรุปในการศึกษาและผู้วิจัยจะจัดการกับสิ่งเหล่านนี้อย่างไร
         - ข้อมูลที่มีจะสามารถเก็บรวบรวมมาได้ จะสนับสนุนหรือจะท้าทายความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไร
          องค์ประกอบเหล่านี้ไม่ได้แตกต่างจากที่มีการวิจัยเชิงปริมาณแต่อย่างใด สิ่งที่เป็นนวัตกรรมก็คือความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ในโมเดลนั้น ส่วนต่างๆ ประกอบกันขึ้น มีลักษณะเป็นบูรณาการและมีปฏิกิริยาสัมพันธ์กันทั้งหมด โดยที่แต่ละส่วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ อีกหลายส่วน มากกว่าที่จะถูกเชื่อมโยงเป็นแบบลำดับขั้นตอนเป็นเส้นตรงหรือเป็นวงกลม ความสัมพันธ์หลักๆ ขององค์ประกอบเหล่านี้นำมาแสดงไว้ในรูปต่อไปนี้
          วัตถุประสงค์ บริบทมโนทัศน์ วิธีการวิจัย ความเที่ยงตรง คำถามการวิจัย
         การออกแบบการวิจัยแบบปฏิกิริยาสัมพันธ์
         การเลือกกลุ่มตัวอย่าง (Building a Sample)
         มักจะใช้การสุ่มตัวอย่างแบบมีวัตถุประสงค์ มีกลวิธีหลายประการและการเลือกกลวิธีการสุ่มตัวอย่างขึ้นอยู่กับจุดสนใจของการศึกษาและการตัดสินใจของนักวิจัยว่าแนวทางไหนจะให้เกิดความเข้าใจปรากฏการณ์ที่จะศึกษาได้อย่างชัดเจนที่สุด เช่น
          1. เลือกตัวอย่างที่เป็นตัวแทน (Typical Cases)
          2. เลือกตัวอย่างที่หลากหลาย (Maximum Variation Sampling)
          3. การเลือกตัวอย่างที่ชัดเจน (Extremely Cases)
        4. เลือกตัวอย่างแบบลูกโซ่ (Snowball Sampling)
        5. เลือกตัวอย่างเฉพาะที่ให้ประเด็นสำคัญ (Key Informant)
          การรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ                         .
          การวิจัยเชิงคุณภาพเป็นการศึกษาปัจจัยที่เน้นการเข้าใจปรากฏการณ์การตีความหมายของโลกหรือสิ่งที่ต้องการศึกษา ด้วยวิธีการศึกษาและเครื่องมือในการเก็บข้อมูลที่หลากหลาย โดยมีเครื่องมือที่สำคัญ คือ ผู้วิจัย การวิจัยนี้มีการออกแบบที่ยืดหยุ่น การวิเคราะห์ข้อมูลและการเก็บข้อมูลเป็นกระบวนการที่สามารถดำเนินไปพร้อมกันในภาคสนาม การวิเคราะห์เริ่มจากการพิจารณาข้อมูลเชิงประจักษ์จนมองเห็นมโนทัศน์หรือแนวคิดที่มีความหมายจากข้อมูลและเห็นความเชื่อมโยงของข้อมูลจนสามารถสรุปเป็นคำอธิบาย แนวคิด หรือทฤษฎีเพื่อทำความเข้าใจความหมายตามปรากฏการณ์ในทัศนะของผู้ที่ถูกศึกษา โดยมีจุดยืนอยู่บนบริบทของปรากฏการณ์หรือของผู้ที่ถูกศึกษาเหล่านั้น แต่อย่างไรก็ดี ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดขั้นตอนหนึ่งในการวิจัยเชิงคุณภาพคือ การเก็บข้อมูลให้ได้ครอบคลุมสิ่งที่ต้องการศึกษามากที่สุดและน่าเชื่อถือมากที่สุด ซึ่งมีหลายวิธีการ ในที่นี้ได้นำเสนอเทคนิควิธีการเก็บข้อมูลที่มีการใช้อย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ คือ การสังเกต การสังเกตแบบแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) และการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ไว้พอสังเขปดังนี้
         การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation)
         การสังเกตแบบมีส่วนร่วม หมายถึง การใช้ประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกันในการรวบรวมข้อมูลโดยต้องเข้าไปอยู่และปฏิบัติตนให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ต้องการศึกษา การสังเกตต้องแยกที่สังเกตกับสิ่งที่เป็นประสบการณ์ในอดีต เฉพาะความคุ้นเคยทำให้มองเห็นภาพ แม้จะไม่ต้องไปศึกษาจริงๆ แต่ความคุ้นเคย ทำให้เราละเลยข้อมูลสำคัญบางประการไป บางครั้งจะเกิดความลำเอียง และเอาสิ่งที่รับรู้จากประสบการณ์มาเขียนไม่ได้เกิดจากการสังเกตจริงๆ
         การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview)
         การวิจัยเชิงคุณภาพนั้นมนุษย์เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญที่สุดซึ่งนักวิจัยใช้ภาษาในการสื่อสาร พูดคุย หรือที่เรียกเป็นทางการว่า การสัมภาษณ์ โดยในการเก็บข้อมูลไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านข้อเท็จจริง ข้อมูลความคิดเห็น และเจตคติ รูปแบบการสัมภาษณ์นั้นมีตั้งแต่การสัมภาษณ์ที่เป็นทางการ มีคำถามทั้งที่มีโครงสร้างและกึ่งโครงสร้างและการพูดคุยอย่างเป็นกันเองเพื่อค้นหาความหมาย ความจริงจากผู้ให้สัมภาษณ์หรือที่เรียกว่า “การสัมภาษณ์เชิงลึก”
           การสัมภาษณ์เชิงลึก เป็นวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพที่มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่น การสัมภาษณ์เจาะลึก การสัมภาษณ์ลุ่มลึก การสัมภาษณ์แนวลึก เป็นต้น ซึ่งเป็นวิธีการรวบรวมข้อมูลโดยไม่ใช้แบบสอบถาม จะมีแนวของข้อคำถามให้ผู้สัมภาษณ์เป็นผู้สอบถามผู้ให้สัมภาษณ์ในลักษณะการเจาะลึก และต้องอาศัยความสามารถพิเศษของผู้สัมภาษณ์ในการค้นหารายละเอียดในประเด็นที่ศึกษาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งการสัมภาษณ์เชิงลึกมักจะศึกษาในประชากรกลุ่มเล็กๆ เช่น ผู้บริหาร นักการเมือง ผู้นำทางวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้น โดยที่การสัมภาษณ์เชิงลึกนั้นมิได้มุ่งหวังว่าจะให้ถูกสัมภาษณ์เลือกคำตอบที่นักวิจัยคิดไว้ก่อนหรือสัมภาษณ์เพียงครั้งเดียวแต่ต้องการให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เลือกคำตอบที่นักวิจัยคิดไว้ก่อนหรือสัมภาษณ์เพียงครั้งเดียวแต่ต้องการให้ผู้ถูกสัมภาษณ์แสดงความคิดเห็น ให้คำอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับความสำคัญของเรื่องและสถานการณ์ ตลอดจนความเชื่อ ความหมายต่างๆ อย่างลึกซึ้งในแง่มุมต่างๆ
             การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion)
             การสนทนากลุ่ม หมายถึง การรวบรวมข้อมูลจากการสนทนากับกลุ่มผู้ให้ข้อมูลในประเด็นที่เฉพาะเจาะจง โดยมีผู้ดำเนินการสนทนา (Moderator) เป็นผู้คอยจุดประเด็นในการสนทนาเพื่อชักจูงให้กลุ่มเกิดแนวคิดและแสดงประเด็นหรือแนวทางการสนทนาอย่างกว้างขวางละเอียดลึกซึ้ง โดยมีผู้เข้าร่วมการสนทนาในแต่ละกลุ่มประมาณ 6-10 คน ซึ่งมาจากประชากรเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีวิธีการเดียวกันแต่มีวัตถุประสงค์ต่างกันอีก เช่น การระดมสมอง (Brian Stoning) การทำ Delphi Technique การสัมภาษณ์ กลุ่ม (Group interview) การประชุมกลุ่ม (Group Meeting) ฯลฯ
                        การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ                                                .
            1. การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ได้แก่ การจัดระบบสิ่งที่ผู้วิจัยได้เห็นได้ยินและได้อ่าน เพื่อให้เข้าใจความหมายในสิ่งที่ได้เรียนรู้ ในการจัดการกับข้อมูล นักวิจัยใช้วิธีบรรยาย อธิบายตั้งสมมติฐาน สร้างทฤษฎี และเชื่อมโยงสิ่งที่ศึกษาไปยังเรื่องอื่นๆ ในการที่จะทำเช่นนั้น ได้นักวิจัยจะต้องจัดประเภท สังเคราะห์ ค้นหาแบบแผน และตีความข้อมูลที่รวบรวมมา
             2. การวิเคราะห์ข้อมูลไม่ใช่ขั้นสุดท้ายของกระบวนการวิจัย และไม่ได้เป็นขั้นตอนหนึ่งที่แยกออกมาจากขั้นตอนอื่นๆ ในกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพนักวิจัยจึงต้องวิเคราะห์ข้อมูลตลอดทุกขั้นตอนของการวิจัย และต้องวิเคราะห์ย้อนกลับไปกลับมาหลายครั้งจนกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการศึกษาครบถ้วน จนสามารถนำเสนอผลการวิจัยได้
            3. ขั้นตอนในการวิเคราะห์ข้อมูลที่นำเสนอในบทนี้แม้จะแบ่งเป็นตอนๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นในลักษณะที่เป็นลำดับตายตัว หรือมีลักษณะเป็นเส้นตรง คือ เริ่มจากข้อ 1 ไปถึงข้อสุดท้าย แล้วนับเป็นสิ้นสุดกระบวนการวิเคราะห์ แต่อาจจะเริ่มทำพร้อมกันหลายจุด หรือย้อนกลับไปมาได้ ฉะนั้นลำดับที่ให้ไว้จึงอาจยืดหยุ่นได้ ตามความเหมาะสมหรือความจำเป็นที่นักวิจัยแต่ละคนจะเลือกใช้
            การเขียนรายงานการวิจัยเชิงคุณภาพ                                       .
             เมื่อเตรียมข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเพื่อจะนำมาเขียนรายงาน นักวิจัยควรจะเริ่มต้นด้วยการคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษา ถ้าหากต้องการจะสร้างความก้าวหน้าในเชิงทฤษฎีและทำให้มโนทัศน์มีความชัดเจนในเรื่องพฤติกรรมมนุษย์ นี่ก็คือเป้าหมายทั่วๆ ไปที่นักวิจัยมักจะตั้งไว้ แต่ถ้าตั้งวัตถุประสงค์ว่าจะปรับปรุงองค์ประกอบของการทำงานในสาขาวิชาใด วิชาหนึ่ง เช่น วิชาพยาบาล นักวิจัยอาจตั้งวัตถุประสงค์ที่แตกต่างออกไปบ้าง นักวิจัยอาจจะมุ่งสนใจประเด็นทางนโยบาย ในทำนองเดียวกันกับที่เราเห็นในเอกสารวิจัยสาขาอาชญาวิทยา การแก้ไขความประพฤติวงการยุติธรรมและหน่วยงานทางการปกครองอื่นๆ
              การกำหนดวัตถุประสงค์ต้องควบคู่ไปกับการเข้าใจผู้อ่าน ในเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลการวิจัยด้วยข้อเขียน ลักษณะของผู้อ่านมีความสำคัญแก่ผู้เขียนเหมือนๆ กับลักษณะของผู้ฟังที่มีความสำคัญแก่ผู้นำเสนอด้วยคำพูด ถ้านักวิจัยต้องการที่เข้าถึงผู้อ่านที่ตั้งใจไว้ รายงานวิจัยจะต้องพูดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนั้นๆ หรือถ้าต้องการจะเข้าถึงกลุ่มทั่ว ๆ ไปที่กว้างกว่าเดิม นักวิจัยก็จะต้องมุ่งให้เข้าถึงความสนใจของกลุ่มคนเหล่านั้น
              กล่าวโดยทั่วๆ ไป รายงานอาจแบ่งได้เป็นหลายส่วน แต่ละส่วนบอกอะไรบางอย่างที่สำคัญแก่ผู้อ่าน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจสิ่งที่นักวิจัยได้กล่าวไว้อย่างเต็มที่ โดยหลักการแล้วส่วนประกอบเหล่านี้ประกอบกันขึ้นเป็นโครงร่างหรือโครงสร้างสนับสนุนรายงาน โครงสร้างสนับสนุนในที่นี้ หมายถึง จำนวนหัวข้อหลักๆ (Major headings) ที่แสดงลำดับของรายงานการวิจัยหัวข้อในรายงานการวิจัยประกอบกันเป็นเค้าโครง ซึ่งเป็นป้ายบอกสัญญาณแก่ผู้อ่าน หัวข้อในรายงานอาจแบ่งตามเรื่องที่เกิดขึ้นในระดับต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นระดับของความสำคัญ
               รายงานการวิจัยทุกประเภทจำเป็นต้องมีหลายๆ ตอนแต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องตั้งชื่อเฉพาะว่าอะไร โดยทั่วไปรายงานการวิจัยประกอบด้วยหัวข้อใหญ่ๆ หรือตอนสำคัญๆ ซึ่งได้แก่
               1. ชื่อเรื่อง (Title) โดยปกติจะอยู่ที่หน้าปก (พร้อมด้วยชื่อของผู้เขียน) และอยู่ที่ด้านบนของหน้าบทคัดย่อ
               2. บทคัดย่อ การบรรยายรายงานทั้งหมดโดยย่อ
               3. บทนำ ได้แก่ คำถามหลักการวิจัย คำศัพท์สำคัญ และเป้าหมายของการวิจัย (Research focus)
               4. การทบทวนวรรณกรรม ได้แก่ การตรวจสอบเอกสารวิจัยที่มีอยู่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหัวข้อของรายงานอย่างละเอียด
               5. วิธีวิทยาการวิจัย บรรยายวิธีการที่นักวิจัยเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด
               6. ข้อค้นพบหรือผลการศึกษา การเสนอข้อมูลที่ได้ค้นพบในระหว่างกระบวนการวิจัย
               7. อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ ได้แก่ การตรวจสอบข้อค้นพบเหล่านั้นและการพิจารณาว่ามันส่งผลต่อกลุ่ม ต่อชุมชน หรือหน่วยงานต่างๆ อย่างไร
               8. การอ้างอิง หมายเหตุ และ/หรือ ภาคผนวก ได้แก่ ตอนซึ่งให้หลักฐานที่สนับสนุนรายงานการวิจัย

  ขอขอบคุณที่มา : ณรงค์ศักดิ์ บุณยมาลิก สรุปจากหนังสือการวิจัยเชิงคุณภาพเบื้องต้น
                               ของ ดร. สรญ ภู่คง และ ผศ.ดร. อ้อมเดือน สดมณี
                               อาจารย์ สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น