วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พุทธชยันตี


#####################################################################
พุทธชยันตี      มหาธัมมาภิสมัย ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
          ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ รัฐบาลไทย ได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี อย่างยิ่งใหญ่ตลอดทั้งปี โดยเน้นหนักในด้านการปฏิบัติบูชา และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับชาติ ให้ประชาชนได้ปฏิบัติตนตามวิถีชาวพุทธอย่างแท้จริง อันจะทำให้เกิดความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างยั่งยืน และเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาและน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๕ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญ พระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕
        การฉลองพุทธชยันตี เป็นเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวันวิสาขบูชา ใช้เรียกการจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระสำคัญของพระพุทธเจ้า เช่น ฉลองครบรอบ ๒,๕๐๐ ปี แห่งการปรินิพพาน หรือ ฉลองครบรอบ ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ โดยอาจใช้ชื่อต่างกันไปบ้าง ในแต่ละประเทศ เช่น ศรีสัมพุทธชยันตี สัมพุทธชยันตี แต่ทั้งหมด ก็คือ การจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
         เมื่อวาระสำคัญเวียนมาบรรจบอีกศตวรรษหนึ่ง ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงจัดฉลองกันโดยทั่วไป เรียกว่าฉลอง "พุทธชยันตี" เช่น ที่เคยฉลองครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ หรือ พ.ศ. ๒๕๐๐ มาแล้ว ในครั้งนั้น กำหนดนับวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน หรือ พ.ศ. ๑ เป็นวันแห่งการฉลองพุทธชยันตี
        แต่ครั้งนี้ นับวันที่พระบรมศาสดาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบครับรอบ ๒๖ พุทธศตวรรษ ๒๖๐๐ ปี กำหนดให้เป็นวันฉลองพุทธชยันตี
       "พุทธชยันตี" หมายถึง ชัยชนะของพระพุทธเจ้า ที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง เพราะพระองค์ ทรงตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา เมื่อ ๒๖๐๐ปี ล่วงแล้ว ทำให้พระนามว่า "สัมมาสัมพุทธะ" ปรากฏขึ้นในโลก เป็นจุดเริ่มต้นแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา อันเกิดจากปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทำให้พุทธศาสนิกชน ได้มีพระธรรมเป็นหลักแห่งการดำเนินชีวิต
        วันฉลองที่สำคัญนี้เรียกเป็นสากลว่า Sambuddha Jayanti ๒,๖๐๐ ตรงกับภาษาไทยว่า "สัมพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี"
         เฉพาะประเทศไทย มหาเถรสมาคม ได้มีมติให้ เรียกงานฉลองนี้ว่า "พุทธชยันตี" ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
        โดยที่ประชุมมหาเถรสมาคม ณ พระตำหนักสมเด็๗ฯ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้มีมติเห็นชอบให้มีกรดำเนินการจัดงานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยให้เรียกชื่อว่า งานฉลอง "พุทธชยันตี" ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ให้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการจัดงาน พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการ โดยมีมหาเถรสมาคม เป็นที่ปรึกษา มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ของบประมาณในการดำเนินการสนับสนุนจากรัฐบาล
                          การจัดงานแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ คือ
        ๑. ด้านการปฏิบัติบูชา มุ่งส่งเสริมการปฏิบัติธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชน โดยใช้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรม
        ๒. ด้านวิชาการ เน้นการประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับพุทธประวัติ หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ดำเนินการ
        ๓. ด้านกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม มอบให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินงาน
           การจัดกิจการทั้งหมด มุ่งเน้นให้เกิดการศึกษา การเผยแผ่ การปฏิบัติบูชา และการมีส่วนร่วมขององค์กรทุกภาคส่วนของประชาชน พร้อมทั้งประสานการจัดกิจกรรมประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นเวทีถ่ายทอดความรู้เกี่ยวพระพุทธศาสนาและเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้เรียนรู้ และเข้าใจหลักธรรมและเรื่องราวในพระพุทธศาสนามากขึ้น ทั้งในประเทศ และนานาชาติ

          ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ถือเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทย เพราะเป็นปีที่สมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษาและเป็นที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษาแล้ว ยังเป็นปีที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นปีที่ครบรอบ ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี” รวมถึงกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ ๓ องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เป็นต้นไป
        การฉลองพุทธชยันตี ถูกกำหนดขึ้นเพื่อน้อมระลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น วันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา หรือใช้เรียกการจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น ฉลองครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ หรือฉลองครอบรอบ ๒๖ พุทธศตวรรษ วันฉลองที่สำคัญนี้เรียกตามสากลว่า “Sambuddha Jayanti ๒๖๐๐” ตรงกับภาษาไทยว่า “สัมพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี” โดยอาจใช้ชื่อต่างกันไปบ้างในแต่ละประเทศ เช่น ศรีสัมพุทธชยันตี สัมพุทธชยันตี พุทธชยันตี แต่ทั้งหมดก็คือ การจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
        สำหรับปีนี้ ประเทศไทยในฐานะเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก ได้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรต่าง ๆ ร่วมกันจัดกิจกรรม อาทิ
       - งานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาโลก ประจำปี ๒๕๕๕ ฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ถึง ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง จัดโดยสภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กิจกรรมประกอบด้วย การเจริญพระพุทธมนต์ การทอดผ้าป่าสามัคคี การอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ การเจริญจิตตภาวนา การจัดแสดงส่งเสริมพระพุทธศาสนา การทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ การจัดโครงการอุปสมบทหมู่ ๑๙๙ รูป การเวียนเทียนการหล่อพระพุทธรูป โดยวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๗.๐๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน ณ พลับพลาพิธีท้องสนามหลวง
      - งานประชุม “วิสาขบูชานานาชาติปี ๒๕๕๕” หัวข้อหลักในการประชุมคือ "The Buddha’s Enlightenment for the well-being of Humanity: พระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ" กำหนดจัดในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม และวันที่ ๑ – ๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ และที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม
         นอกจากกิจกรรมในส่วนกลางแล้ว ส่วนภูมิภาคก็มีการจัดกิจกรรมเช่นเดียวกัน โดยกระทรวงมหาดไทยและจังหวัด ๗๖ จังหวัด จัดกิจกรรมเพื่อฉลองพุทธชยันตี ระหว่างวันที่ ๒๙ พฤษภาคม – ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ รวมกิจกรรมจำนวน ๒๑๘ กิจกรรม ในพื้นที่ ๑๑๕ แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร กิจกรรมประกอบด้วย การปฏิบัติบูชาการเจริญ พระพุทธมนต์ การแสดงพระธรรมเทศนา การเดินธรรมยาตรา-สมาธิ การเวียนเทียน การจัดนิทรรศการ การทอดผ้าป่า การประกวดโต๊ะหมู่บูชา การสาธยายพระไตรปิฎก ขบวนรถบุปผชาติ ฯลฯ ดังนั้น จึงขอเชิญพุทธศาสนิกชนชาวไทยเข้าร่วมกิจกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ โดยแต่งกายด้วยชุดสีขาวในช่วงสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชา งานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ระหว่างวันที่ ๒๙ พฤษภาคม – ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ “www.พุทธชยันตี.net” หรือเว็บไซต์ภาษาอังกฤษที่ “www.buddhajayanti.net

เรียบเรียงโดย ชัชพร ศฤงคารจินดา
ขอบคุณ ที่มา : ศูนย์ประชาสัมพันธ์การจัดงานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้                         http://www.buddhajayanti.net/th/article_detail.php?ID=7
 บทความ        ปี ๒๕๕๕ เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง “พุทธชยันตี”(๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น