วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษา

การประกันคุณภาพการศึกษามีความสำคัญ 3 ประการ คือ

      1.ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลคุณภาพการศึกษาที่เชื่อถือได้ เกิดความเชื่อมั่นและสามารถตัดสินใจเลือกใช้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน
     2.ป้องกันการจัดการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคและเกิดความเสมอภาคในโอกาสที่จะได้รับการบริการการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง
     3.ทำให้ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษามุ่งบริหารจัดการศึกษาสู่คุณภาพและมาตรฐานอย่างจริงจัง ซึ่งมีผลให้การศึกษามีพลังที่จะพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
       สรุป คือ การประกันคุณภาพการศึกษาจึงเป็นการบริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรมตามภารกิจปกติของสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้รับบริการการศึกษา ทั้งยังเป็นการป้องกันการจัดการศึกษาที่ด้อยคุณภาพและสร้างสรรค์การศึกษา
ให้เป็นกลไกที่มีพลังในการพัฒนาประชากรให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น

         วงจรการพัฒนาของ ดร. เอดวาร์ด เด็มมิ่ง ซึ่งมี 4 ขั้นตอน มีการพัฒนาเป็นวงจรต่อเนื่อง เรียกว่า วงจร PDCA (Plan - Do - Check - Action) แต่ละขั้นตอนมีลักษณะงานที่ต้องปฏิบัติดังนี้

     1. การวางแผน (Plan) เป็นการเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพื่อจะทำงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ในการวางแผนจะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แนวทาง การดำเนินงาน ผู้รับผิดชอบ ระยะเวลา และทรัพยากร ที่ต้องใช้เพื่อทำงานให้บรรลุผล
     2. การปฏิบัติตามแผน (Do) เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากการวางแผน โดยมีการมอบหมายผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติงานตามลักษณะงาน เวลา และภารกิจของแต่ละส่วนงาน โดยมีการนิเทศ แนะนำ กำกับ ติดตาม เพื่อให้งานเป็นไปตามกำหนด
3. การตรวจสอบประเมินผล (Check) เป็นการประเมินผลการดำเนินงานในเวลาหนึ่งว่างานสำเร็จมากน้อยเพียงใด เด่นด้อยเพียงใด ถ้าเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่คาดหวังเอาไว้กับสิ่งที่ทำได้จริง การประเมินผลในขั้นตอนนี้ก็เพื่อต้องการทราบสภาพการดำเนินงานว่าเป็นเช่นไร จะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
4. การปรับปรุงงาน (Action) เป็นการนำผลจากการประเมินมาปรับปรุง พัฒนาต่อไป เช่น ถ้าผลการปฏิบัติในห้วงเวลาที่ผ่านมายังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินงานให้เหมาะสม หรือถ้าผลการปฏิบัติงานได้ตามเป้าหมายแล้ว ในการดำเนินการต่อไปจะได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายให้สูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้องค์กรพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น
     การดำเนินงานตามวงจรคุณภาพจะเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องเมื่อปฏิบัติขั้นที่ 1 แล้วก็ปฏิบัติต่อในขั้นที่ 2, 3 และ 4 ตามลำดับ เมื่อเสร็จขั้นที่ 4 ก็กลับมาเริ่มต้นที่ขั้นที่ 1 เป็นวงจรวนเวียนอยู่อย่างต่อเนื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น